grid.in.th

ITPE FE Examination

by Sirn

เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปสอบ โครงการมาตรฐานวิชาชีพไอที ของ สวทช. ในชุดข้อสอบ Fundamental Information Technology Engineers (FE) และพบว่าได้ผลออกมาดีกว่าที่คาด โดยเป็นหนึ่งใน 2 คนที่สอบผ่านข้อสอบชุดดังกล่าวในรอบนี้ และได้คะแนนสูงเป็นอันดับสามจากผู้สอบทุกประเทศ (ประมาณ 700 คน) เลยคิดว่าน่าถือโอกาสนี้ลองเขียนเกี่ยวกับการสอบดู

ITPE FE

ข้อสอบ Fundamental Information Technology Engineers นั้นเป็นข้อสอบที่ยึดรูปแบบมาจากข้อสอบในชื่อเดียวกันของญี่ปุ่น โดยมี ITPEC ที่มีองค์กรของรัฐจาก 8 ประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิก เป็นผู้กำกับดูแล เพื่อใช้เป็นมาตรฐานกลางในการวัดระดับคุณภาพบุคลากรในแต่ละประเทศ

ข้อสอบแบ่งเป็นภาคเช้าและภาคบ่าย ภาคเช้าเป็นการสอบแบบปรนัยโดยเน้นทฤษฎีในด้านต่างๆ จาก 3 หมวดหมู่ ได้แก่ด้านกลยุทธ์ (Strategy), ด้านการบริหาร (Management) และด้านเทคโนโลยี (Technology) ส่วนภาคบ่ายเป็นข้อสอบปรินัยแบบวิเคราะห์และปฏิบัติจริง โดยผู้สอบจำเป็นต้องเลือกระหว่างโจทย์โค้ดภาษาซีหรือภาษาจาวา

เกณฑ์การสอบผ่านคือต้องสอบภาคเช้าละภาคบ่ายให้ได้คะแนนอย่างน้อย 60% ทั้งสองภาค

Why?

เมื่อรู้ว่าข้อสอบเกี่ยวกับอะไรแล้ว คำถามถัดมาก็คือ ไปสอบทำไม ก่อนอื่นต้องสารภาพว่าแม้ตัวผู้เขียนจะทำงานในฐานะโปรแกรมเมอร์มาหลายปี แต่กระนั้นแล้ว ตัวผู้เขียนไม่ได้เรียนสายไอทีมาก่อน ประกอบกับช่วงที่สอบนั้นกำลังจะออกจากงานที่เดิม (ไว้จะเขียนถึงในโอกาสถัดไป) จึงใช้โอกาสนี้เข้าสอบโดยหวังผลในการเทียบวุฒิเพื่อความสะดวกในขั้นตอนต่างๆ ในอนาคตเสียมากกว่า

Preparation

เนื่องจากการตัดสินใจเข้าสอบค่อนข้างกระชั้นชิด และเป็นช่วงที่จำเป็นต้องเตรียมถ่ายงาน จึงมีเวลาเตรียมตัวไม่มากนัก (เพียง 1 เดือนกว่าๆ) จึงเริ่มจากการตั้งกฏให้ตัวเองว่า ต้องหาเวลาอย่างน้อยวันละ 30 นาทีมาอ่านเตรียมสอบ และ ลองทำข้อสอบของปีก่อน เพื่อหาจุดอ่อนของตัวเอง เพื่อเน้นเตรียมตัวในจุดนั้นๆ เป็นหลัก เนื่องจากเวลามีจำกัด

ผลจากการลองทำข้อสอบของปีก่อนได้ออกมาเป็น 52 ข้อจาก 80 ข้อในภาคเช้า (นับเป็น 65%) และ 77 คะแนนจาก 96 คะแนนในภาคบ่าย (นับเป็น 80%) ซึ่งในส่วนของภาคเช้าพบจุดอ่อนในด้านกลยุทธ์ (Strategy) และด้านบริหาร (Management) และควรทบทวนในส่วนของ data structure ส่วนภาคบ่ายนั้นไม่น่าเป็นห่วงนัก

โดนส่วนตัวมีความคิดว่าการท่องจำอะไรให้ได้ผลที่สุดวิธีหนึ่งคือการอ่านและย่อยสิ่งที่อ่านออกมาด้วยการเขียนสรุปตามความเข้าใจของตนเอง จึงดำเนินการเตรียมสอบโดยการค้นหาและอ่านเว็บไซต์บนอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ และอ่านคู่มือ IT Passport ที่ทาง สวทช. ได้จัดเตรียมไว้ให้ (เนื่องจากข้อสอบ FE นั้นมีส่วนที่คล้ายกับ IT Passport พอสมควร)

ระหว่างการเตรียมสอบ ก็มีการ ลองทำข้อสอบชุดอื่น เพื่อทบทวนความเข้าใจในสิ่งที่อ่านเป็นระยะๆ ซึ่งรู้สึกว่าทำได้ดีขึ้นตามลำดับ วันก่อนสอบเลือกที่จะอ่านทบทวนจากเนื้อหาที่สรุปไว้ และเข้านอนแต่หัวค่ำ เพื่อให้วันรุ่งขึ้นได้มีสมาธิในการทำข้อสอบ

Examination

ในวันสอบตัดสินใจเลือกเข้าสอบที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เนื่องจากสามารถเดินทางได้สะดวกที่สุด (ไปด้วย BTS และต่อ BRT) โดยไปถึงก่อนเวลาสอบประมาณ 1 ชั่วโมง ใช้เวลาที่เหลือในการอ่านทบทวนรอบสุดท้าย ก่อนเข้าห้องสอบและเริ่มทำข้อสอบในภาคเช้า

ถึงแม้จะรู้สึกว่าเตรียมตัวมาพอสมควร แต่ในการสอบจริงกลับรู้สึกว่าทำไม่ได้ดีอย่างที่คาดไว้ (มั่นใจ 30% ไม่ค่อยมั่นใจ 40% และใช้ความน่าจะเป็นราวๆ 30%) ส่วนหนึ่งน่าจะเพราะประเด็นบางประเด็นที่เน้นหนักในตอนแรก เช่น data structure กลับออกน้อยกว่าที่คิด แต่กระนั้น ถ้าผลสอบเป็นไปตามที่ทดสอบก่อนหน้า ก็น่าจะมีโอกาสผ่าน

ในรอบบ่ายรู้สึกว่าง่ายกว่ารอบเช้ามาก เพราะเป็นข้อสอบแบบวิเคราะห์และเน้นใช้ตรรกะการเขียนโปรแกรมเป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ก็รู้สึกติดเล็กน้อยในส่วนของภาษาซี เนื่องจากไม่ได้ใช้เป็นเวลาพอสมควร แต่โดยรวมแล้วก็คิดว่ารอบบ่ายไม่น่ามีปัญหาอะไร

Result

การประกาศผลสอบเกิดขึ้น 1 เดือนหลังวันสอบ โดยได้คะแนนเป็น 83.75% สำหรับภาคเช้า และ 90.00% สำหรับภาคบ่าย ซึ่งได้ผลออกมาดีกว่าที่คิดไว้มาก โดยส่วนตัวมองว่าการสอบนี้ช่วยให้มีโอกาสได้ทบทวนในสิ่งที่ไม่ได้ใช้มาเป็นเวลานาน และเป็นโอกาสในการเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่รู้ที่น่าจะมีประโยชน์ต่อการทำงานในสายอาชีพในภายหลัง ถึงแม้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่ทันตาเห็น แต่ถ้าหากลองมองในระยะยาว ก็น่าจะมีโอกาสได้ใช้ประโยชน์จากผลสอบครั้งนี้อยู่เหมือนกัน